หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

HGH กับเนื้องอกของต่อมใต้สมองผิดปรกติ



HGH กับเนื้องอกของต่อมใต้สมองผิดปรกติ

Acromegaly


ในรอบปี 2552 ที่ผ่านมา โรคเนื้องอกของต่อมใต้สมองผิดปกติหรืออะโครเมกาลี ได้รับการเผยแพร่มากขึ้นเรื่อย ๆ ผ่านนางสาวมาลี ดวงดี หญิงสาววัย 16 ปี ที่มีส่วนสูงที่ผิดปกติ สูงถึง 212 เซนติเมตร ทำให้โรคนี้เริ่มเป็นที่สนใจของประชาชนและมีการติดตามรับรู้ข่าวสารกันมาก ขึ้น

ภัยของโรคเนื้องอกของต่อมใต้สมองผิดปกติ (Acromegaly) นั้นเกิดจากความผิดปกติของเนื้องอก ที่ได้สร้างฮอร์โมนชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า โกร๊ธฮอร์โมน (Growth Hormone) ซึ่งผลิตขึ้นมามากกว่าคนปกติทั่วไป โดยโรคนี้ปกติจะไม่ค่อยพบบ่อยมากนัก เทียบเป็นอัตราส่วน 1 ต่อหลายแสนคน แต่สำหรับในประเทศไทยนั้นพบจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากว่าระบบการแพทย์ของไทยในปัจจุบัน ดีขึ้นกว่าในอดีตมาก มีการร่วมมือกันระหว่างแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านต่อมไร้ท่อ และแพทย์ระบบทางเดินทางประสาทในการวินิจฉัยและรักษา ทำให้ค้นพบผู้ที่เป็นโรคนี้เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โรคเนื้องอก ของต่อมใต้สมองผิดปกติ เกิดจากความผิดปกติของสมองลึกลงไปบริเวณหลังกระบอกตา จะมีต่อมใต้สมองซึ่งมีรูปร่างคล้ายเม็ดถั่ว ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนที่ควบคุมการเจริญเติบโตหรือโกร๊ธฮอร์โมน เราเรียกต่อมนี้ว่า พิทูอิตารี (Pituitary)” ซึ่งถ้าเกิดเนื้องอกที่สร้างโกร๊ธฮอร์โมนมากผิดปกติอย่างขาดการควบคุม ก็จะทำให้เกิดโรคคนยักษ์หรืออะโครเมกาลี (Acromegaly) โรคนี้เกิดกับใครก็ได้ทุกเมื่อ และมันจะเปลี่ยนแปลงร่างกายของเราไปตลอดชีวิต

หลายปีที่ผ่านมา ผมได้พบคนไข้รายหนึ่งโดยบังเอิญ ใน    ระหว่างตรวจเช็กสถานที่จัดงานในโรงแรมแห่งหนึ่ง ก่อนหน้าวันสัมมนาหนึ่งวัน ตอนนั้นมีชายอายุราว 30 ปีเศษ เป็นช่างไฟประจำโรงแรมกำลังติดตั้งระบบไฟฟ้าอยู่ สังเกตเห็นความผิดปกติของรูปร่างหน้าตา จึงเข้าไปพูดคุยด้วย พบว่ามีเสียงห้าวใหญ่ คิ้วโหนก ริมฝีปากหนา มือและเท้ามีขนาดใหญ่และโตขึ้นเรื่อย ๆ จนต้องเปลี่ยนรองเท้าคู่ใหม่ที่ใหญ่ขึ้นบ่อย ๆ และชอบเดินชนสิ่งต่าง ๆ ทั้งหมดนี้เจ้าตัวไม่คิดว่ามันเป็นเรื่องผิดปกติ แต่ในฐานะหมอระบบต่อมไร้ท่อ ค่อนข้างแน่ใจว่าเขาคือผู้ป่วยโรคอะโครเมกาลี แต่ไม่รู้ตัวว่าตนเองป่วย จึงแนะนำให้ไปตรวจเช็กอย่างละเอียดที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พร้อมทั้งให้นำภาพถ่ายสมัยเป็นนักเรียน นักศึกษามาด้วย

เมื่อถึงวัน นัด จากภาพถ่ายเห็นได้ชัดว่าผู้ป่วยมีหน้าตาเปลี่ยนไปจากเดิมมาก จึงได้ทำการตรวจเลือด เพื่อวัดระดับโกร๊ธฮอร์โมน ทั้งก่อนและหลังดื่มน้ำตาลกลูโคส ผลปรากฏว่าระดับโกร๊ธฮอร์โมนสูงกว่าค่าของคนปกติหลายเท่าและไม่ลดลงภายหลัง ดื่มน้ำตาลกลูโคส ผลการเอกซเรย์กระดูกทั้งตัว ก็พบความผิดปกติกระดูกเติบโตต่างจากคนทั่วไป มีเนื้อเยื่อผิวหนังบริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้าหนามาก ผลการตรวจ MRI สมอง ก็พบว่ามีก้อนเนื้องอกต่อมพิทูอิตารีขนาดใหญ่มากถึง 4 ซม. โดยก้อนเนื้องอกได้กดทับประสาทสมองส่วนควบคุมการมองเห็น ทำให้ลานสายตาทางด้านข้างทั้งสองข้างแคบลง เป็นสาเหตุให้คนไข้เดินชนสิ่งนั้นสิ่งนี้อยู่บ่อย ๆ หลังจากการตรวจวินิจฉัยครบทุกขั้นตอนแล้วจึงส่งไปรับการผ่าตัดเพื่อเอาก้อน เนื้องอกทิ้งไป ผู้ป่วยรายนี้ก่อนผ่าตัดก็พบว่าเป็นเบาหวานร่วมด้วย ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากเนื้องอกชนิดนี้

การผ่าตัดคนไข้รายนี้ไม่ใช่ เรื่องง่ายต้องทำการผ่ากันถึง 3 ครั้ง หลังผ่าตัดครั้งแรกพบว่าไม่หมด ฮอร์โมนยังสูงอยู่ จึงได้ รับการผ่าตัดครั้งที่สอง และครั้งที่สามตามมาในระยะเวลา 1 ปี แต่หลังผ่าตัดแล้วทุกครั้งระดับฮอร์โมนก็ยังไม่ลดลง กลับพบว่า ต่อมหมวกไต ทำงานผิดปกติและฮอร์โมนเพศลดลง ต้องให้ฮอร์โมนเสริม เพื่อปราบก้อนเนื้องอกอย่างถอนรากถอนโคน จึงจำเป็นต้องส่งผู้ป่วยไปฉายแสงอีก 20 โดส (Dose) ให้เนื้องอกฝ่อลง และรายนี้ก็หลังจากฉายแสงไปได้ 2-3 ปี ระดับฮอร์โมนก็ลดลง แต่คนไข้กลับมีฮอร์โมนธัยรอยด์ต่ำ ช่วงที่เนื้องอกค่อย ๆ ฝ่อ อาการเบาหวานก็หายไปโดยไม่ต้องทานยา แต่ต้องรับยาฮอร์โมนจากต่อมหมวกไตและฮอร์โมนธัยรอยด์ และฉีดฮอร์โมนเพศทดแทนทุกเดือน ปัจจุบันคนไข้รายนี้หายจากโรคและกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติแล้ว แต่อาการมือ เท้าใหญ่ จะยังคงอยู่ตลอดไป ส่วนเรื่องเสียงห้าวและหน้าตาเปลี่ยนแปลงดีขึ้นเล็กน้อย

อีกรายเป็น หญิงวัยกลางคนที่รักสวยรักงาม มาหาหมอเพราะสังเกตตนเองหน้าเปลี่ยนไป กรามใหญ่ขึ้น คางหนา โหนกคิ้วใหญ่ ที่สำคัญคือแหวนที่ใส่คับถอดไม่ได้ ผลการตรวจยืนยันว่าเป็นอะโครเมกาลี แต่รายนี้โชคดีมาพบแพทย์ค่อนข้างเร็ว เนื้องอกมีขนาดไม่โตมาก (1.2 ซม.) ผู้ป่วยรายนี้ไม่ได้ผ่าตัดเพราะเป็นช่วงที่มียาใหม่เข้ามา (แซนโดสแตตินชนิดออกฤทธิ์นาน) หมอจึงฉีดให้ยาตัวนี้กับผู้ป่วยมาตลอด โดยฉีดยาเดือนละ 1 เข็มทุก ๆ เดือน เกือบ สองปี โกร๊ธฮอร์โมนจึงเข้าสู่ระดับปกติ แต่เธอต้องได้รับยาตลอดชีวิต เพื่อไปกดไม่ให้เนื้องอกโต ถามว่าทำไมไม่ผ่าออกเหมือนรายแรก เพราะการผ่าตัดก็มีความเสี่ยง หรือแม้ฉายแสงด้วยวิธีใหม่ ที่เรียกว่าแกมม่าไน้ฟว์ก็ให้ผลเพียง 70-80 เปอร์เซ็นต์ และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ โดยเฉพาะทำให้ฮอร์โมนอื่น ๆ หมดไปได้เหมือนเช่นรายแรก

หลังได้ยาต่อเนื่องเป็นเวลา 2  ปี พบว่าเนื้องอกมีขนาดเล็กลง 50 เปอร์เซ็นต์ ระดับฮอร์โมนลดลงเกือบเท่ากับคนปกติ แต่ยังไม่สามารถหยุดการใช้ยาฉีดตัวนี้ได้ ต้องใช้ไปตลอด ซึ่งยาตัวนี้ค่อนข้างแพง ผู้ป่วยต้องรับภาระราวเดือนละ 5-6 หมื่นบาทไปตลอดชีวิต

สำหรับ นางสาวมาลี ดวงดี ที่เป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์เมื่อต้นปี 2552 ก็เป็นเนื้องอกชนิดนี้เช่นกัน แต่เนื่องจากเป็นตั้งแต่เด็ก กระดูกยังเติบโตยาวขึ้นได้เรื่อย ๆ จึงทำให้เกิดเป็นเด็กร่างยักษ์ รายนี้สูงมาก ในช่วงวัยประถมปลายก็สูงเกือบสองเมตร ขณะนี้กำลังรักษาด้วยยาตัวใหม่นี้เช่นกัน โชคดีที่มีผู้มีใจบุญกุศลช่วยเหลือ บริจาคค่ายา

โรคนี้ที่จริงแล้วพบ ได้น้อยมาก แต่ก็ใช่ว่าจะหายาก ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ฝ่ามือจะใหญ่ หยาบ เป็นคนตัวใหญ่ ล่ำ ๆ เสียงจะเปลี่ยนไป การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายจะช้ามาก จึงต้องควรสังเกตตัวเอง มีวิธีสังเกตง่าย ๆ เช่น แหวนที่เคยใส่อยู่คับไปต้องเปลี่ยนวง หรือเปลี่ยนเบอร์รองเท้าบ่อย ๆ ซึ่งไม่ควรจะเกิดในผู้ใหญ่ เป็นต้น ซึ่งแพทย์หลายท่านสามารถตรวจได้ โดยตรวจดูจากโครงกระดูกและอวัยวะภายใน ว่ามีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ หากเกิดความสงสัย ว่าเป็นโรคนี้ ใช้วิธีการตรวจเลือดเพื่อวัดระดับฮอร์โมนซึ่งสามารถทดสอบได้ง่าย ๆ

ดัง นั้น หากคุณสวมแหวนประจำ แล้ววันหนึ่งเกิดคับขึ้นอย่างไม่ทราบสาเหตุ หรือเท้าใหญ่ขึ้นต้องเปลี่ยนรองเท้าบ่อย ๆ ร่วมกับมีอาการของเบาหวาน อ่อนล้า กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดข้อต่อ ทัศนวิสัยการมองเห็นเปลี่ยนไป ควรมาพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุตั้งแต่เนิ่น ๆ โรคเนื้องอกของต่อมใต้สมองผิดปกติหรือโรคอะโครเมกาลี เป็นความผิดปกติที่ยังหาสาเหตุแท้จริงไม่ได้ แต่ก็ไม่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ควรรีบพบแพทย์เพื่อรักษา ความผิดปกติก็จะน้อยลงและสามารถอยู่กับมันได้อย่างไม่ลำบากมากนัก.รศ.นพ.สม พงษ์ สุวรรณวลัยกรรอง ผอ.ฝ่ายบริการ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์อาจารย์สาขาวิชาต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึม

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น